Chromebook vs. MacBook: นิยามใหม่ของโน้ตบุ๊ก

head

บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร digital Age ฉบับที่ 198 ประจำเดือนมิถุนายน 2558

อาจกล่าวได้ว่าสมาร์ทโฟนคือสุดยอดคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ประโยชน์ที่ได้รับจากมันมีเหลือคณานับ เราใช้มันทั้งเล่นเฟซบุ๊ก ดูวิดีโอในยูทูบ หรือคุยกับเพื่อนๆ ผ่านทางไลน์ ฯลฯ เราสามารถจับมันยัดใส่กระเป๋ากางเกงและพกไปไหนต่อไหนได้อย่างสะดวก พร้อมด้วยพลังงานจากแบตเตอรี่ที่อยู่ได้นานกว่าหนึ่งวัน ส่วนแท็บเล็ตนั้นก็เหมือนกับภาคขยายของสมาร์ทโฟน จอที่ใหญ่ขึ้นทำให้เรารับชมความบันเทิงอย่างได้อรรถรสยิ่งกว่า อีกทั้งยังมีอุปกรณ์เสริมอย่างคีย์บอร์ดที่ทำให้เราสามารถใช้แทนโน้ตบุ๊กได้เป็นอย่างดีในหลายโอกาส

เห็นได้ชัดว่ากิจกรรมดิจิทัลประจำวันของผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการกำลังการประมวลผลมากนัก นั่นจึงทำให้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตกลายเป็นที่ชื่นชอบ เพราะสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ตรงใจ และเบียดความจำเป็นของโน้ตบุ๊กเข้าไปทุกที หลายฝ่ายได้จึงประเมินถึงอวสานของพีซีที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันด้วยยอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจจาก Gartner ระบุว่ายอดจัดส่งพีซีทั่วโลกในไตรมาสที่ผ่านมาลดลงกว่าร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว นั่นทำให้ผู้ผลิตรายต่างๆ ต้องหันมาคิดนวัตกรรมให้กับโน้ตบุ๊ก เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

Chromebook: เมื่อทุกอย่างอยู่ในเบราว์เซอร์

แอปต่างๆ ใน Chromebook จะรันในเบราว์เซอร์
แอปต่างๆ ใน Chromebook จะรันในเบราว์เซอร์

ทุกคนคงคุ้นเคยกับ Chrome เบราว์เซอร์สุดฮอตจาก Google ซึ่งขึ้นชื่อด้านความเร็ว แต่ทราบหรือไม่ครับว่า Google ได้พัฒนาต่อยอดให้มันกลายเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับโน้ตบุ๊กที่มีชื่อว่า ChromeOS  Chromebook คือชื่อเรียกโน้ตบุ๊กที่ใช้ระบบปฏิบัติการดังกล่าว ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่ได้รับความนิยมในเมืองไทยเท่าไรนัก แต่ที่ต่างประเทศนั้นมันถูกเสนอชื่อให้เป็นทางเลือกราคาประหยัดแทนโน้ตบุ๊กที่ใช้ระบบปฏิบัติการของคู่แข่งเลยทีเดียว เห็นได้จากยอดขายที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก NPD ระบุว่า ยอดขาย Chromebook คิดเป็นร้อยละ 14 ของยอดขายโน้ตบุ๊กรวมทั้งปี 2014 ในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปี 2013 ที่น่าสนใจคือยอดขายของ Chromebook กว่าสองในสามมาจากกลุ่มสถาบันการศึกษา ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 85 เมื่อเทียบปีต่อปี

นั่นเพราะว่า Chromebook คือคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำงานได้เหมือนกับโน้ตบุ๊กทั่วไป แต่กลับมีราคาเทียบเท่ากับแท็บเล็ตดีๆ หนึ่งตัวเท่านั้น คืออยู่ในช่วงหลักพันปลายๆ ถึงหมื่นต้นๆ มันสามารถทำได้ทุกอย่างเช่นเดียวกับที่เบราว์เซอร์ Chrome สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นเช็คอีเมล เล่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือใช้งานสารพันแอปที่ Google นำเสนอในร้านค้าออนไลน์ Chrome Web Store จึงทำให้เป็นทางเลือกชั้นดีสำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้งานคอมพิวเตอร์หนักหนาอะไรนัก เหมือนกับเป็นแท็บเล็ตที่ติดคีย์บอร์ดพร้อมใช้งาน

อย่างไรก็ดี การใช้งาน Chromebook ยังคงมีข้อจำกัดหลายประการ เริ่มจากผู้ใช้ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกือบตลอดเวลา เพราะแอปพลิเคชันส่วนใหญ่ทำงานผ่านระบบคลาวด์ที่ต้องมีการดึงข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ แม้ว่าปัจจุบันแอปบางตัวอย่าง Gmail และ Drive จะมีตัวเลือกให้ใช้งานแบบออฟไลน์ได้แล้วก็ตาม ประการต่อมาที่สืบเนื่องมาจากข้อแรกก็คือ Chromebook ส่วนใหญ่มี่พื้นที่เก็บข้อมูลน้อยมาก โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ราว 16-32GB เท่านั้น เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน แต่ Google ก็ได้มอบพื้นที่บนคลาวด์ฟรีกว่า 100GB ให้กับผู้ใช้งาน ทว่ามันก็ต้องการอินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงอยู่ดี

Chromebook Pixel คือสุดยอด Chromebook จาก Google ที่มีราคาแพงไม่แพ้ MacBook
Chromebook Pixel คือสุดยอด Chromebook จาก Google ที่มีราคาแพงไม่แพ้ MacBook

ข้อจำกัดดังกล่าวได้ทำให้ Chromebook ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมนักสำหรับผู้ที่ยังต้องพึ่งพาโปรแกรมอย่าง Photoshop, Office หรือซอฟแวร์ลูกข่ายอื่นบนเดสก์ท็อป แม้ว่าตามจริงแล้วมีซอฟแวร์ที่เราคุ้นเคยไม่น้อยนำเสนอเวอร์ชันที่ทำงานบนเบราว์เซอร์ แต่ก็มักถูกลดทอนฟังชันการทำงานจนไม่สามารถใช้แทนกันได้ในบางโอกาส หากรู้ตัวว่าเป็นยูสเซอร์ที่มีพฤติกรรมการใช้งานดั่งว่า ก็แนะนำให้อยู่ห่างจาก Chromebook ไว้ก่อน

MacBook: สวย ใส ไม่ไร้ประโยชน์?

ความบางของ MacBook เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย
ความบางของ MacBook เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย

MacBook ใหม่จาก Apple สามารถเรียกความสนใจได้ไม่น้อย ไม่เพียงแต่จากเฉพาะรูปร่างอันน่าดึงดูดของมันเท่านั้น แต่จากประสิทธิภาพที่ดูไปก็ไม่คุ้มค่าเงินเสียเลย ด้วยราคาเริ่มต้นกว่าสี่หมื่นบาทแต่กลับได้คอมพิวเตอร์ความเร็วเท่ากับ MacBook Air รุ่นเมื่อสี่ปีที่แล้ว มันจึงถูกมองว่าเป็นของเล่นของลูกคนรวย เป็นแค่เครื่องประดับ (มีสีทองให้เลือกด้วยนะครับ) นวัตกรรมล่าสุดจาก Apple คราวนี้จึงดูน่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง

แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? ก่อนอื่นต้องมาพิจารณาข้อมูลทางเทคนิคให้ถ้วนถี่ ฮาร์ดแวร์สำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อน MacBook รุ่นใหม่นี้คือโปรเซสเซอร์ Intel Core M ซึ่งได้รับการออกแบบให้ประหยัดพลังงานมากเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้มันจึงไม่ต้องการพัดลมระบายความร้อนให้เปลืองเนื้อที่ ถูกแล้วครับ MacBook ตัวใหม่นี้ไม่มีพัดลมใดๆ อยู่ภายใน นักออกแบบและวิศวกรจึงสามารถทำให้มันมีความบางเฉียบ ทำงานเงียบ และและมีน้ำหนักเบาที่สุดในหมู่โน้ตบุ๊กจาก Apple ด้วยกัน ที่สำคัญคือมันยังสามารถรันระบบปฏิบัติการ OS X Yosemite ได้เหมือนกับรุ่น Air และ Pro อีกด้วย

แน่นอนว่ามันก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เริ่มจากประสิทธิภาพของโปรเซสเซอร์ที่ไม่เร็วนักเมื่อเทียบกับ Intel Core I ที่ใช้ในโน้ตบุ๊กรุ่นอื่นของบริษัท ทำให้แม้ว่ามันจะสามารถรันแอปที่ใช้กับ OS X Yosemite ได้เหมือนกัน แต่ประสิทธิภาพที่ได้รับกลับแต่งต่างออกไป MacBook สามารถใช้งานได้ดีกับแอปทั่วไป เช่น การรับชมวิดีโอ ใช้งานเครือข่ายสังคม หรือท่องเว็บ แต่จะเริ่มออกอาการอืดให้เห็นทันทีเมื่อจับมารันโปรแกรมตัดต่อวีดิโอ หรือแต่งภาพถ่าย นอกจากนี้มันยังมาพร้อมกับพอร์ตเชื่อมต่อภายนอกเพียงช่องเดียว (ไม่นับช่องเสียบหูฟัง) คือ USB-C ซึ่งใช้ทั้งโอนถ่ายข้อมูลกับฮาร์ดไดรฟ ชาร์จไฟ และต่อออกจอมอนิเตอร์ แต่เนื่องจากมันมีมาให้เพียงช่องเดียวเราจึงใช้งานได้ทีละอย่าง ไม่เช่นนั้นก็ต้องซื้ออะแดปเตอร์เพิ่มเติม ซึ่งก็ต้องเสียเงินเพิ่มไปอีก (ทำไมไม่มีมาให้ในกล่องเลยก็ไม่รู้)

USB-C พอร์ตเดียวเพื่อครองพิภพ
USB-C พอร์ตเดียวเพื่อครองพิภพ

แต่มันคืออนาคตของโน้ตบุ๊ก?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้ง Chromebook และ MacBook มีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะในแง่ของการใช้งานจริงที่โครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันยังไม่รองรับ Chromebook ไม่สามารถใช้งานโปรแกรมที่มีฟังชันชั้นสูงแบบที่มีอยู่ใน Windows หรือ OS X ได้ และต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ตลอดเวลาจึงจะสามารถใช้งานแอปต่างๆ ได้อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งเข้าถึงพื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ส่วน MacBook นั้นก็ช้าเกินกว่าจะทำอะไรที่หนักๆ มากไปกว่าเล่นเว็บ ดูหนัง หรือทำงานออฟฟิศทั่วไป อีกทั้งผู้ใช้ต้องเตรียมเงินอีกก้อนหนึ่งสำหรับซื้อสารพันอุปกรณ์แปลงและฮับเพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก

อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ใช้งานที่จำกัดจำเขี่ยดังกล่าวทำให้ผมนึกไปถึงสมัยที่ MacBook Air รุ่นแรกได้รับการเปิดตัวเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ทุกคนยอมรับว่ามันสวย มันบาง มันเบา และมันเจ๋ง! เพราะสามารถจับยัดใส่ซองเอกสารได้ (ลองค้นวิดีโอเปิดตัวในยูทูบดูนะครับ) แต่ก็แน่ล่ะว่ามันเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพซีพียูที่ไม่ได้เรื่อง พอร์ตเชื่อมต่อที่น้อย แถมยังไม่มีไดรฟดีวีดีมาให้อีกต่างหาก แต่กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่าเราไม่ได้ต้องการสิ่งที่ขาดไปเลย พอร์ตเชื่อมต่อที่น้อยก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำงานไม่ได้ ส่วนประสิทธิภาพก็ได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามความก้าวหน้าของโปรเซสเซอร์ จึงไม่แปลกที่ MacBook Air จะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ต้องการซื้อโน้ตบุ๊กในปัจจุบัน

ดังนั้นทั้ง Chromebook และ MacBook จึงเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาสำหรับใช้งานในอนาคต อนาคตที่โครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายไร้สายได้รับการพัฒนาให้มีความรวดเร็ว เชื่อถือได้ และครอบคลุมพอที่จะเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา เมื่อถึงเวลานั้นเราอาจไม่ต้องการโปรเซสเซอร์ที่มีประสิทธิภาพการประมวลผลมากให้สิ้นเปลืองพลังงาน แต่อาจใช้วิธีสตรีมมิ่งข้อมูลที่ได้รับการประมวลผลโดยเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ไกลออกไป แล้วนำผลที่ได้มาแสดงบนหน้าจอพร้อมใช้ ส่วนบรรดาพอร์ตต่างๆ นั้นก็อาจไม่จำเป็น เพราะอุปกรณ์ต่างๆ สามารถสื่อสารโอนถ่ายข้อมูลความเร็วสูงผ่านระบบบลูทูธนั่นเอง

แต่น่าเสียดายที่เราอาจต้องรออนาคตที่ว่าอีกสักระยะครับ…

ใส่ความเห็น