Project Ara สมาร์ทโฟนแยกส่วนจาก Google

head

บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร e-commerce ฉบับที่ 187 ประจำเดือนกรกฎาคม 2557

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแพลตฟอร์มสมาร์ทโฟนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันคือ Android ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่มากกว่าคู่แข่งหลายเท่า อันเป็นผลมาจากความที่เป็นระบบเปิดจึงทำให้ผู้พัฒนามือถือสามารถนำไปใช้กับฮาร์ดแวร์ของตนได้ทันที เราจึงได้เห็นสมาร์ทโฟนหลายขนาดและราคา ไล่ไปตั้งแต่รุ่นจอเล็กราคาไม่กี่พันไปจนถึงแฟบเล็ตจอเบิ้มราคาหลักหมื่น อีกทั้งยังก่อให้เกิดนวัตกรรมตามมาอีกมากชนิดที่ระบบปิดอย่าง iOS คงได้แต่ฝันถึง

ที่กล่าวไปคือโลกของซอฟแวร์ที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ของบรรดาอัจฉริยะทางวิศวกรรม แต่ลองคิดดูว่าคงจะดีไม่น้อยหากผู้ใช้งานทั่วไปจะสามารถปรับแต่งฮาร์ดแวร์ได้บ้าง เพราะเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงต้องเคยประสบอาการ “เลือกไม่ถูก” เวลาซื้อสมาร์ทโฟนสักเครื่อง เช่น ตัวนี้กล้องความละเอียดสูงแต่จอภาพให้สีไม่สวย หรือตัวนี้บอดี้งามแท้แต่แบตไม่อึดเอาซะเลย เป็นต้น แต่เชื่อว่าอีกไม่นานปัญหานี้จะหมดไปหากว่า Project Ara จาก Google พัฒนาแล้วเสร็จ เพราะเป้าหมายหลักของโครงการนี้ก็คือ พัฒนาสมาร์ทโฟนราคาประหยัดที่ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ได้เอง เช่นเดียวกับที่ Android เอื้อให้ผู้พัฒนาสามารถปรับแต่งระบบปฏิบัติการดังกล่าวได้ตามใจชอบ

กว่าจะมาเป็น Project Ara

ใครที่ติดตามข่าววงการไอทีมาตลอดน่าจะพอจำข่าวที่ Google เข้าซื้อกิจการ Motorola Mobility เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2011 ได้เป็นอย่างดี นักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่าสาเหตุการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวก็คือ Google ต้องการเข้าครอบครองสิทธิบัตรจำนวนมากเพื่อไปงัดข้อกับ Apple ในชั้นศาลที่กำลังระอุด้วยคดีความฟ้องร้องในช่วงนั้น โดยแทบจะไม่มีใครเชื่อเลยว่ายักษ์ใหญ่ด้านเสิร์ชเอ็นจิ้นจะลงมาพัฒนาสมาร์ทโฟนด้วยตัวเอง เพราะจะเป็นการไปขัดแข้งขาคู่หูทางการค้ารายอื่นที่ป้อนฮาร์ดแวร์ให้แพลตฟอร์ม Android แต่จนแล้วจนรอดก็ยังมีซีรีส์ Moto ออกมาให้เห็น ซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์ไปในทางบวก ด้วยความที่เน้นความเป็น pure Android ซึ่งไม่ได้รับการปรับแต่งใดๆ เหมือนกันซีรีส์ Nexus และขายในราคาที่ถูกกว่าชาวบ้าน

แต่ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา Google ได้ประกาศขายกิจการ Motorola Mobility ให้กับ Lenovo ผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์รายใหญ่จากแดนมังกร ที่น่าสนใจคือมีหน่วยย่อยหนึ่งที่ไม่ได้ถูกขายไปด้วยนั่นคือ Advanced Technology and Projects (ATAP) นำทีมโดย Regina Dugan อดีตผู้อำนวยการ Defense Advanced Research Projects Agency (DARPA) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำให้โลกได้รู้จักกับเทคโนโลยีสุดล้ำอย่าง อินเทอร์เน็ต การสำรวจพื้นที่ผ่านดาวเทียม และอากาศยานที่สามารถล่องหนจากจอเรดาร์ ความแตกต่างระหว่างทีม ATAP กับ Google X ก็คือ ขณะที่ทีมหลังทำหน้าที่สำรวจไอเดียหลุดโลกที่อาจไม่สามารถนำมาใช้งานได้จริง ทีม ATAP กลับมีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ต้องสามารถทำออกมาขายได้ สามารถจับต้อง และต้องให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด!

การออกแบบสมาร์ทโฟนในปัจจุบันนับเป็นปัญหาหนักอกของบรรดานักออกแบบ เพราะโจทย์มีอยู่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะถูกใจกลุ่มผู้ใช้งานนับแสนนับล้าน ยังไม่นับรวมถึงฟังชันต่างๆ ที่นับวันจะทวีความซับซ้อนขึ้น แต่กลับต้องทำให้สามารถใช้งานง่าย ซึ่งผู้นำเทรนด์นี้ก็คือ Apple ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการผสานความซับซ้อนของฮาร์ดแวร์ไว้ภายใต้เปลือกภายนอกอันแสนเรียบหรู ข้อดีก็คือจะได้ฮาร์ดแวร์ที่มีลักษณะบางเบาตามที่ผู้ผลิตคาดหวัง แต่ผลอีกด้านหนึ่งก็คือจะมีหน้าตาออกไปในโทนเดียวกันหมด รวมไปถึงการใช้งานที่อาจนำมาซึ่งปัญหาการฟ้องร้องเพราะว่าลอกเลียนแบบมากมาย

จนกระทั่งเมื่อประมาณปลายปีที่แล้ว Dave Hakkens นักศึกษาด้านการออกแบบอุตสาหกรรมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอแสดงคอนเซ็ปต์ Phonebloks สมาร์ทโฟนที่ผู้ใช้สามารถถอดประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เองได้เหมือนกับตัวต่อเลโก้ โดยเขาได้ให้เหตุผลว่าจะช่วยลดการเกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากผู้ใช้ทิ้งมือถือหลังจากที่ใช้ได้เพียงสองสามปีเพื่อซื้อเครื่องใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่า เพราะหากไม่พอใจประสิทธิภาพส่วนไหนก็สามารถซื้อเฉพาะฮาร์ดแวร์ส่วนนั้นมาเปลี่ยน

แบบร่างของ Phonebloks ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นพ่อของ Project Ara ก็เป็นได้
แบบร่างของ Phonebloks ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นพ่อของ Project Ara ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม จะเป็นเพราะความบังเอิญหรืออย่างไรไม่ทราบได้ เพราะในห้วงเวลาดังกล่าวทีม ATAP ใน Motorola Mobility ก็กำลังพัฒนาสมาร์ทโฟนคอนเซ็ปต์เดียวกันอยู่เช่นกัน จึงไม่รอช้ารีบเป็นพาร์ทเนอร์กันกับ Hakkens ในการพัฒนาแนวคิด Phonebloks ให้เป็นรูปเป็นร่างภายใต้ชื่อ Project Ara

จุดเด่นของ Project Ara

Project Ara คือสมาร์ทโฟนที่ชิ้นส่วนต่างๆ ได้รับการบรรจุอยู่ในโมดูลเล็กๆ เสียบติดอยู่กับแกนหลักของเครื่องที่เรียกว่า Endoskeleton หรือเรียกสั้นๆ ว่า Endo ซึ่งเปรียบเหมือนกับกระดูกสันหลังของเครื่อง มีลักษณะเป็นกรอบอะลูนิเนียมภายในประกอบไปด้วยวงจรทำหน้าที่กำกับการสื่อสารระหว่างโมดูลแต่ละชิ้น โดยโมดูลดังกล่าวทำหน้าที่แทนชิ้นส่วนภายในเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นโปรเซสเซอร์ แรม พื้นที่เก็บข้อมูล กล้อง หรือลำโพง แบบเดียวที่กับที่การ์ดกราฟิก แรม หรือการ์ดเสียงมีลักษณะเป็นแผงวงจรยึดติดกับเมนบอร์ดในคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป

โครงสร้างของ Project Ara จะเห็นได้ว่ามี Endo เป็นแกนหลักทำหน้าที่รองรับโมดูลที่จะเสียบมาตามช่องต่างๆ
โครงสร้างของ Project Ara จะเห็นได้ว่ามี Endo เป็นแกนหลักทำหน้าที่รองรับโมดูลที่จะเสียบมาตามช่องต่างๆ

ปัจจุบันทีม ATAP วางแผนว่าจะพัฒนา Endo ออกเป็น 3 ขนาด ได้แก่ mini, medium และ jumbo ซึ่งขนาดที่ใหญ่ขึ้นก็หมายความว่าจะมีพื้นที่ในการติดตั้งโมดูลมากขึ้นเช่นกัน โดยขนาดใหญ่ที่สุดอาจสามารถติดตั้งโมดูลได้ถึงสิบชิ้น เรียกได้ว่าเครื่องยิ่งใหญ่ตัวเลือกยิ่งเยอะ ยกตัวอย่างเช่น หากกำลังจะเดินทางท่องเที่ยวก็สามารถเพิ่มโมดูลแบตเตอรี่ก้อนที่ 2-3 เข้าไปได้ตามสะดวก ที่น่าสนใจคือการออกแบบโมดูลให้รองรับฟังชัน hot-swap ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ทันทีโดยไม่ต้องปิดเครื่องก่อน ทำให้ปรับเปลี่ยนฟังชันของมือถือได้ในทันที

Endo ทั้ง 3 ขนาด
Endo ทั้ง 3 ขนาด

นอกจากนี้ ATAP ยังได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในการพัฒนาโครงการดังกล่าวให้เป็นรูปร่าง ที่น่าสนใจคือการร่วมมือกับ 3D System ในการพัฒนาเครื่องพิมพ์สามมิติที่สามารถวาดลวดลายลงในโมดูลตามที่ผู้ใช้ต้องการ เพื่อสร้างความโดดเด่นไม่ให้เหมือนใครอื่น

Project Ara สามารถปรับแต่งได้ลวดลายได้ตามใจชอบ
Project Ara สามารถปรับแต่งได้ลวดลายได้ตามใจชอบ

ความท้าทายที่ต้องเผชิญ

เช่นเดียวกับโครงการสุดขั้วอื่นของ Google สมาร์ทโฟนแยกส่วนนี้ยังต้องพบกับความท้าทายอีกมาก อย่างที่กล่าวไปว่า เทรนด์ของสมาร์ทโฟนในปัจจุบันต่างมุ่งไปทางบางและเบามากขึ้นแทบทั้งนั้น แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีไมโครชิพภายในที่นับวันจะมีน้อยชิ้น แต่ว่าในแต่ละชิ้นจะมีความสามารถมากขึ้นและสามารถทำหน้าที่แทนกันได้ เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานและลดต้นทุนการผลิต แต่ Project Ara กลับเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม เพราะมุ่งที่จะแยกชิ้นส่วนเพื่อสะดวกในการปรับแต่งโดยผู้ใช้มากกว่า ผลก็คือบอดี้ของเครื่องที่อาจมีขนาดหนากว่าของคู่แข่ง โดยสเปคของโมเดลล่าสุดระบุว่าเมื่อประกอบโมดูลพร้อมใช้แล้วตัวบอดี้จะมีความหนาทั้งสิ้น 9.7 มิลลิเมตร ซึ่งหนากว่า iPhone 5S (7.6 มม.) และ Galaxy S5 (8.1 มม.) อยู่มากพอสมควร นอกจากนี้ยังไม่มีข้อมูลใดที่ระบุถึงความอึดของแบตเตอรี่เมื่อต้องทำงานร่วมกับชิ้นส่วนที่อยู่แยกจากกันเช่นนี้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ จะทำอย่างไรถึงจะจูงใจผู้บริโภคให้ยอมรับสมาร์ทโฟนเลโก้แบบนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่าจุดเด่นที่ทำให้อุปกรณ์พกพามียอดขายแซงหน้าเดสก์ท็อปในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็คือความง่ายในการใช้งานที่เกิดจากการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างฮาร์ดแวร์ชั้นเลิศและซอฟแวร์ที่ทำงานได้ลื่นไหล การมอบตัวเลือกให้กับผู้บริโภคนับเป็นแนวคิดที่น่าชื่นชม แต่หากมีตัวเลือกมากเกินไปก็อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูกจนถึงกับเบือนหน้าหนีไปเลยก็เป็นได้ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องบังเอิญก็ได้ที่ความซับซ้อนดังกล่าวได้ทำให้ Razer ผู้พัฒนาอุปกรณ์เล่นเกมชื่อดัง ได้เริ่มโครงการ Project Christine ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปแบบโมดูล่าที่ชิ้นส่วนต่างๆ จะบรรจุอยู่ในกล่องโมดูลยึดติดกับแกนกลางของเครื่องเหมือนกับ Project Ara เพียงแต่เป็นเวอร์ชันเดสก์ท็อปเท่านั้น

Project Christine แนวคิดเดสก์ท็อปแบบโมดูล่าจาก Razer
Project Christine แนวคิดเดสก์ท็อปแบบโมดูล่าจาก Razer

น่ายินดีที่ Google ได้เตรียมคิดแผนการนี้ไว้แล้ว โดยสมาร์ทโฟน Project Ara ที่มีราคาถูกที่สุดจะวางจำหน่ายที่ราคา 50 เหรียญสหรัฐ (ราว 1,500 บาท) ภายใต้ชื่อ grayphone ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป และสามารถเริ่มปรับแต่งโมดูลเพิ่มเติมได้ทันที หรือถ้าใครตัดสินใจเลือกโมดูลประกอบไม่ถูกก็อาจใช้ friend modes ซึ่งจะเป็นการลอกแบบชิ้นส่วนประกอบมาจากเครื่องของเพื่อนเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจ

แต่วิธีการที่อาจเรียกได้ว่าหลุดโลกเสียยิ่งกว่าตัวโครงการเองก็คือ Google อาจตั้งร้านเล็กๆ ไว้ตามแหล่งชุมชน โดยที่ภายในร้านจะมีแท็บเล็ตสำหรับให้ลูกค้าเลือกปรับแต่งมือถือ ความพิเศษของแท็บเล็ตนี้ก็คือจะสามารถตรวจจับอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้าได้ว่ากำลังมีความสุขกับการปรับแต่งอยู่หรือไม่ หากกำลังรู้สึกสับสนหรือวิตกกังวล ระบบก็จะแนะนำขิ้นส่วนให้ทันทีเพื่อไม่ให้ลูกค้า “เซ็งเป็ด” ไปมากกว่านั้น หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ ระบบจะเข้าไปตรวจสอบบัญชี facebook หรือ Google+ ของผู้ใช้ โดยหากพบว่าลูกค้าเดินทางบ่อยครั้ง ระบบก็จะแนะนำให้ซื้อโมดูลแบตเตอรี่เพิ่ม หรือหากพบว่าลูกค้าชอบโพสต์ภาพถ่ายมากเป็นพิเศษ ระบบก็จะแนะนำให้เลือกโมดูลกล้องที่สามารถถ่ายภาพความละเอียดสูงได้มากกว่า เป็นต้น

สรุป

สมาร์ทโฟนทุกวันนี้มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกันมากขึ้น ความไร้ซึ่งจุดเด่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิด Project Ara ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งสมาร์ทโฟนได้ตามใจชอบ อีกทั้งยังไม่ต้องเสียเงินซื้อเครื่องใหม่ทั้งเครื่องเพียงเพราะไม่พอใจกับบางฟังชันที่มีมาให้

แต่ข้อดีของอุปกรณ์พกพาที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกติดใจก็คือความสะดวกในการใช้งานที่มีเพียงแต่การออกแบบอย่างพิถีพิถันในทุกขั้นตอนเท่านั้นที่จะมอบให้ได้ ความท้าทายที่แท้จริงของ Project Ara จึงอาจจะไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาฮาร์ดแวร์ แต่อาจอยู่ที่จะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคยอมรับ ซึ่งเราคงไม่ทราบจนกว่าจะถึงไตรมาสแรกของ ค.ศ. 2015 อันเป็นกำหนดการวางจำหน่ายครั้งแรกครับ

ใส่ความเห็น